เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Netzwerk Klima) - โครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งกำลังยืนร้องเชียร์พร้อมถือตาข่ายที่เต็มไปด้วยขยะ
เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมการเก็บขยะ | © Goethe-Institut Thailand

การจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับเยาวชนจากหกประเทศพร้อมกับเรียนภาษาเยอรมันไปในตัวเกิดขึ้นได้อย่างไร สถาบันเกอเธ่ในประเทศไทยได้จัดโปรเจคระดับภูมิภาคที่ชื่อ “เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Netzwerk Klima)” เพื่อให้เยาวชนทั้ง 24 คนพร้อมครูผู้ติดตามหกคน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายและสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมทุกคน

จากการเรียนการสอนในห้องสู่การเรียนการสอนสดแบบออนไลน์

วิกฤตโรคระบาดโควิดส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยผลกระทบดังกล่าวมักจะเป็นผลเสีย เพราะครูผู้สอนไม่สามารถจัดรูปแบบการเรียนการสอนตามปรกติอีกต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ “การปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบดิจิตอลอย่างฉับพลันดังกล่าว” จึงมักส่งผลต่อการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ทำให้ผู้สอนหันกลับไปสอนในรูปแบบเก่า (นักเรียนฟังอย่างเดียว ครูเป็นผู้ให้ข้อมูลฝ่ายเดียว สอนเป็นภาษาไทยและอื่นๆ) และทำให้แทบจะไม่มีการนำรูปแบบเรียนการสอนแบบใหม่ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีมาใช้จริง

ผลที่ตามมาไม่ได้มีแค่ตัวเลขจำนวนผู้สอบวัดระดับภาษา Fit-Prüfung และผลสอบที่ลดลงตามกันไป หากแต่ยังรวมถึงแรงจูงใจในการเรียนภาษาเยอรมันในกลุ่มเยาวชนก็ลดลงไปด้วย ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลเสียอย่างมากต่อการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยในภาพรวมให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์

ตามที่ Bolte-Costabiei และ Häring ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 123 เทคนิกการสอน (123 Unterrichtstechniken) ได้ระบุว่า หลายคนอ้างว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์สามารถทำได้โดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก เน้นการสื่อสารและเน้นการทำกิจกรรม แต่จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลอย่างฉับพลันและความรู้ที่ไม่เพียงพอเกี่ยวกับแพล็ตฟอร์มการเรียนการสอนมักเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนในรูปแบบที่ได้มีการกล่าวอ้างว่าทำได้

จากโครงการที่มีการพบปะกันจริงสู่โครงการแบบผสมผสาน

แนวความคิดการจัดทำโครงการระดับภูมิภาคที่ชื่อ เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นก่อนวิกฤตการณ์โรคระบาด โดยมีแนวความคิดทางการสอนแบบบูรณาการเป็นหลัก ซึ่งเน้นการการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาแต่ละวิชาที่เรียน

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสำหรับการเรียนการสอนในห้องเรียนจริงแต่หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดก็ได้มีการขยายและปรับเปลี่ยนให้เป็นโครงการแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบไปด้วยการพบกันแบบออนไลน์สองครั้งก่อน และอีกสองครั้งหลังการเข้าค่ายกิจกรรม โดยเป็นโครงการแบบผสมผสานที่ใช้รูปแบบการทำกิจกรรมแบบเปรียบเทียบ สหวิทยาการและเน้นความสำคัญของความคิดหลากหลายแง่มุมอีกด้วย

นักเรียนที่เข้าร่วมจะสามารถตั้งคำถามอย่างมีเหตุผลรอบด้านเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง การรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถเปรียบเทียบและเข้าใจแนวทางแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ จากหลากหลายแง่มุม โดยจะมีการใช้ภาษาเยอรมันในแต่ละกิจกรรมอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนกภาษาของสถาบันเกอเธ่ คือการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาเยอรมัน

เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม - แบบดิจิตอลก่อนการเข้าค่ายกิจกรรม

เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังเรียนภาษาเยอรมันถึงสี่คนจากประเทศมาเลเซีย พม่า อินโดเนเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนามสามารถเข้าร่วมได้ โดยจะต้องสามารถใช้ภาษาเยอรมันอย่างน้อยในระดับ A2 ตามมาตรฐานการวัดระดับความสามารถทางด้านภาษาของยุโรป (CEFR) สนใจในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และไม่เพียงแค่สามารถเข้าร่วมค่ายกิจกรรมด้วยตัวเองได้เท่านั้น หากแต่ยังอยากเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งโครงการ (รวมถึงกิจกรรมออนไลน์) และทำโปรเจคการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใกล้เคียงกับหัวข้อโครงการพร้อมกับนักเรียนคนอื่นๆ จากประเทศของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ การพบปะกันแบบออนไลน์ทั้งสองครั้งแรกจึงไม่ได้เป็นแค่กิจกรรมที่ให้นักเรียนต่างทำความรู้จักกับนักเรียนคนอื่นและทีมผู้จัด หากแต่ยังเป็นการให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตารางกิจกรรมและกิจกรรมแต่ละกิจกรรม พร้อมฝึกภาษาเยอรมันไปในตัวด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การใช้ภาษาเยอรมันในการทำกิจกรรมต่างๆ ของเหล่านักเรียนจากหลากหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเสมอไป เพราะต่างก็มีระดับภาษาเยอรมันที่ไม่สูงมาก เนื่องจากแต่ละคนต่างก็เรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาต่างประเทศที่สองหรือที่สามสำหรับนักเรียนบางคนอีกด้วย

ในลำดับแรก ผู้จัดโครงการจึงเน้นกิจกรรมที่ช่วยลดความเขินอายและอุปสรรคอื่นของผู้เรียนภาษาเยอรมันแต่ละคน พร้อมให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โดยให้แต่ละคนแนะนำตัวเองเป็นภาษาเยอรมัน และเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองและเรื่องอื่นในชีวิตประจำวันด้วยคำไม่กี่คำ ในการพบปะดังกล่าวจะมีการใช้ภาษาสื่อสารถึงสามภาษา (เยอรมัน อังกฤษ ภาษาแม่ของแต่ละคน) เพื่อให้เหล่าเยาวชนที่เข้าร่วมได้รับทราบถึงข้อความต่างๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้ “อย่าอายที่จะพูดภาษาเยอรมัน ถ้าคิดคำไหนไม่ออก ก็พูดคำนั้นเป็นภาษาอังกฤษแทนได้”

ทีมผู้จัดกิจกรรมจะพูดภาษาเยอรมันในแบบที่เข้าใจง่าย และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอบเป็นภาษาเยอรมันหรือภาษาอังกฤษ ในการแบ่งกลุ่มย่อยในแต่ละครั้งจะใช้ภาษาแม่ของแต่ละกลุ่มในการสื่อสาร เพราะถึงแม้ว่าเยาวชนแต่ละคนในกลุ่มย่อยจะมาจากประเทศเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เรียนที่เดียวกัน พวกเขาจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักซึ่งกันและกันก่อน

จริงๆ แล้วการพบปะกันทางออนไลน์ก็ยังมีข้อดีอยู่เหมือนกัน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถทำกิจกรรมในสถานที่ที่ตนเองคุ้นเคย และทางผู้จัดยังสามารถใช้เทคนิกในการแบ่งกลุ่มย่อยได้อีกด้วย (เช่น การใช้ฟังชั่น Breakout-Room)

Netzwerk Klima – präsentisch: das Sprachcamp

ค่ายทำกิจกรรมที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2022 ในเขาหลัก (ประเทศไทย) มีหลักเกณฑ์หลักในการจัดกิจกรรมถึง 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
  1. การเรียน การใช้ และการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเยอรมัน
  2. การเรียนรู้เฉพาะทางในหัวข้อ การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  3. ดำเนินการทำโปรเจคในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศที่นักเรียนแต่ละคนอยู่
ในการทำกิจกรรมตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เข้าร่วมเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้และพูดคุยเป็นภาษาเยอรมันในหัวข้อต่างๆ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม การบริโภคและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับการคิดริเริ่มบริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง นอกจากนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลวิธีการอภิปรายโดยการหาข้อสรุปจากสิ่งที่สังเกตได้ ที่จำเป็นสำหรับการระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาเยอรมันได้ ผู้เข้าร่วมต่างก็จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพื่อร่วมทำกิจกรรมที่ไม่เน้นการใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลักร่วมกันได้อย่างราบรื่น
  • คนห้าคนกำลังถือกระดาษ A1 ที่มีภาพเส้นกราฟและกำลังอธิบายภาพ ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    กลุ่มต่างๆ ต่างก็บริหารจัดการโครงการของกลุ่มเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างตลอดค่ายเยาวชน
  • หลายคนกำลังเก็บขยะจากชายหาดและรวบรวมขยะลงในถังขยะขนาดใหญ่ กิจกรรมการเก็บขยะบนชายหาด
    กิจกรรมการเก็บขยะบนชายหาด
  • คนห้าคนกำลังหัวเราะและถือหันกระถางต้นไม้ขนาดเล็กมาที่กล้อง ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
    กระถางต้นไม้จากพลาสติกรีไซเคิล
จัดกิจกรรมนำปัจจัยดังกล่าวมาใช้พิจารณาการจัดกิจกรรมในค่าย ดังต่อไปนี้ ในช่วงเช้าจะจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันแบบเน้นกิจกรรมและเพื่อนำไปใช้ในการทำโปรเจคในหัวข้อการเรียนการสอนภาษาเยอรมันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วงบ่ายจะเน้นการให้ข้อมูลความรู้เฉพาะด้าน การเรียนและฝึกทักษาะและความสามารถต่างๆ เช่น การสนับสนุนการคิดริเริ่มและการดำเนินการทำโปรเจคตามความคิดของตัวเอง

เนื่องจากระดับภาษาเยอรมันของกลุ่มเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะแทบจะไม่สูงเกินกว่าระดับ A2 ทีมผู้จัดจึงต้องหาทางคิดแนวทางการจัดกิจกรรม ที่ผู้เรียนในระดับภาษาดังกล่าวสามารถสามารถปฎิบัติกิจกรรมได้ โดยคุณ Rainer E. Wicke ซึ่งผู้เขียนบทความรู้จักเป็นอย่างดีจากหลากหลายโปรเจค ได้พัฒนาแบบฝึกหัดและกิจกรรมในระดับภาษาดังกล่าว รวมถึงความคิดเห็นของครูผู้สอนด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเนื้อหาในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศแบบบูรณาการซึ่งเน้นการทำกิจกรรมและการสื่อสาร

การเรียนการสอนดังกล่าวประกอบไปด้วยหน่วยการสอนสี่หน่วยในแต่ละวัน ซึ่งมีครูผู้สอนจากสถาบันเกอเธ่ ภาษาเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์การเรียนรู้แบบเน้นการทำโปรเจคในช่วงบ่ายไว้ตลอดการสอน เพื่อช่วยให้กลุ่มเยาวชนผู้เรียนสามารถสื่อสารเป็นภาษาเยอรมันได้ง่ายขึ้น

ในช่วงบ่าย ผู้ดำเนินกิจกรรมด้านโปรเจคจาก Traidhos Three-Generation จะเป็นผู้ให้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน พร้อมร่วมคิดหากลวิธีต่างๆ กับกลุ่มเยาวชน ให้พวกเขาสามารถออกแบบโปรเจคด้วยตัวเองในแบบที่มีประโยชน์และเน้นการบรรลุวัตถุประสงค์

เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม - แบบดิจิตอลหลังการเข้าค่ายกิจกรรม

ในระหว่างค่ายทำกิจกรรม เหล่าเยาวชนจะจบการศึกษาในฐานะนักการทูตด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดตั้งชมรมรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Netzwerk Klima) สมาชิกผู้จัดตั้งชมรมรักษาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวประกอบไปด้วยนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ครูผู้ติดตาม รวมถึงนักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าค่ายกิจกรรมในเขาหลักได้ แต่ก็ยังอยากจะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม

ชมรมรักษาสิ่งแวดล้อมมีขั้นตอนการทำโปรเจคสามขั้นตอน ได้แก่
  1. การค้นคว้าและระบุปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของตัวเอง (ก่อนการเข้าค่าย)
  2. คิดออกแบบโปรเจคในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ระหว่างการเข้าค่าย)
  3. ดำเนินการทำโปรเจคในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (หลังการเข้าค่าย)
ตามประสบการณ์ของผู้จัด นักเรียนที่เข้าร่วมจะตื่นเต้นและสนใจการทำกิจกรรมน้อยลงหลังจากได้พบปะกันจริงในการทำกิจกรรมของโปรเจค ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งอีกหนึ่งหลักเกณฑ์สำคัญซึ่งเป็นเงื่อนไขการสมัครตั้งแต่เริ่มแรก โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวคือ ความพร้อมใจในการร่วมกับนักเรียนคนอื่นที่มาจากประเทศของตัวเองหลังเข้าร่วมค่ายกิจกรรมในการดำเนินการทำโปรเจคจริงในหัวข้อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการร่วมก่อตั้งชมรมรักษาสิ่งแวดล้อมกับนักเรียนคนอื่นๆ

เพราะฉะนั้น การพบปะกันแบบออนไลน์หลังเข้าค่ายจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หากแต่ยังเป็นการนำเสนอโปรเจคของตัวเอง ในช่วงขั้นตอนการทำโปรเจค เหล่าเยาวชนจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ที่พวกเขาต่างก็รู้จักกันแล้วในการพบปะแบบออนไลน์ก่อนเข้าค่าย พี่เลี้ยงจะคอยสนับสนุนการดำเนินการทำโปรเจคจริงและสอดส่องดูแลให้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำกิจกรรมต่างๆ ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด

เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม - การทดสอบโครงการ

ในเดือนพฤษจิกายน ปี 2020 ได้มีการจัดกิจกรรมที่คล้ายกันในเขาหลักมาก่อนแล้ว โดยเป็นค่ายทำกิจกรรมภายใต้หัวข้อ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการที่ไม่ใช่แบบดิจิตอลดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนไทยเท่านั้น (เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาด) แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกับโครงการที่พึ่งจัดขึ้นมา ได้แก่ การเรียน การใช้ และการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเยอรมันในครึ่งแรก และการทำกิจกรรมเวิร์กชอบในครึ่งหลัง การนำองค์ประกอบทางดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ การรวมตัวของเหล่าเยาวชนทั้งหกประเทศ รวมถึงขั้นตอนการทำโปรเจคที่นานขึ้นหลังการเข้าค่าย ถือเป็นเรื่องใหม่ในการจัดทำโครงการในปี 2022

โครงการกิจกรรมเช่น เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Netzwerk Klima) จึงควรเป็นกิจกรรมต้นแบบสำหรับครูผู้สอนคนอื่น และควรเป็นตัวกระตุ้นให้มีการนำองค์ประกอบของการเรียนการสอนภาษาเยอรมันแบบบูรณาการ (FüDaF) มาใช้ในการเรียนการสอนในห้องมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างการนำองค์ประกอบแบบดิจิตอลมาใช้งาน พร้อมเปิดพื้นที่ให้เหล่าเยาวชนสามารถคิดและดำเนินการทำโปรเจคตามความคิดของตัวเองอีกด้วย

ข้อสรุป

โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การจัดสัมนาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมในรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานที่นำการเรียนรู้แบบออนไลน์และการเรียนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน (Blended Learning) สามารถทำได้ในรูปแบบความร่วมมือข้ามภูมิภาค นอกเหนือจากในโรงเรียนของตัวเองเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้แบบเน้นความร่วมมือ การทำกิจกรรมและการทำโปรเจค เป็นการนำประสบการณ์การใช้ชีวิตของนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เพื่อให้พวกเขาเห็นภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่างก็ต้องประสบพบเจอในแต่ละวัน การที่เหล่านักเรียนจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ยังเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาสนใจเรียนรู้ภาษาตามหลักการเรียนการสอนภาษาเยอรมันแบบบูรณาการ
 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

  • Janschitz, G., Zehetner, E. & Fernandez, K.: Digitalisierung mit der Brechstange, Zeitschrift für Bildungsforschung 12, 387-406 (2022)
  • Bolte-Costabiei C., Häring S.: 123 Unterrichtstechniken (123 เทคนิกการสอน), สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, 2021