ความเป็นส่วนตัวกับโลกยุคดิจิทัล
“เพราะเฟซบุ๊กไม่ใช่ห้องนั่งเล่นที่บ้าน”
ในยุคที่เต็มไปด้วยสื่อสังคมออนไลน์ สมาร์ทโฟน และการเชื่อมโยงทุกอย่างด้วยระบบอินเตอร์เน็ต (Internet of Things) แล้วจะเหลีอพื้นที่ส่วนตัวให้เราตรงไหน หรือความเป็นส่วนตัวจะกลายเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ของยัน ฟิลิปป์ อัลเบรคท์ ผู้เชื่อมั่นในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
คุณอัลเบรคท์ เราต่างก็ถ่ายรูปเซลฟี่ เขียนแสดงความคิดเห็นต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอและจงใจบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันต่อสาธารณะ นี่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกยุคหลังความเป็นส่วนตัวกันหรือเปล่า
ผมเชื่อว่า แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกยุคดิจิทัล แต่คนส่วนมากก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ดี ที่สำคัญคือเราก็อยากเป็นผู้กำหนดเองว่า ใครจะรับรู้เรื่องราวอะไรของเราได้เมื่อใด การกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ทั้งทางกฎหมายและวิธีการ ขอเพียงกฎเกณฑ์นั้นมีความเหมาะสม
แต่ความคิดของเราเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน เส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ภายในบ้านกับพื้นที่สาธารณะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
แนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ในสิบปีร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มมาเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้เราก็ยังต้องแยกแยะอยู่ว่า เราจะเล่าเรื่องอะไรให้คุณยายหรือนายจ้างฟัง จะเล่าอะไรให้น้องสาวหรือบริษัทประกันสุขภาพฟัง พื้นที่ความสัมพันธ์แบบต่างๆ นั้นยังคงมีอยู่อย่างเดิม ผู้ใช้(สื่อออนไลน์)มักไตร่ตรองก่อนว่า จะแสดงตัวตนอย่างไรในอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้เหล่านี้แสวงหาระบบที่เอื้อต่อการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้ใช้ต้องการบริการที่มีการรักษาความเป็นส่วนตัว
“ผู้คนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน”
พิจารณาจากการพัฒนาในปีที่ผ่านๆ มา คุณสังเกตเห็นความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นของชาวยุโรปหรือไม่ ความต้องการความเป็นส่วนตัวนี้มีสูงขึ้นหรือไม่ชัดเจนมาก เราสามารถสังเกตการณ์ปรากฏการณ์นี้ได้ เมื่อเฟซบุ๊กเริ่มใช้รูปแบบไทม์ไลน์ซึ่งทำให้เราสามารถย้อนดูสิ่งที่ตนเองเคยเขียนไว้ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจ พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นสาธารณะด้านนี้มาก่อน แต่ทุกวันนี้ผู้ใช้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าเฟซบุ๊กนั้นไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวเหมือนห้องนั่งเล่นในบ้านแต่อย่างใด มีการใช้บริการเสริมป้องกันการติดตามในเว็บบราวเซอร์และระบบการสนทนาแบบเข้ารหัสเพิ่มมากขึ้น
การจำกัดการใช้ข้อมูลใช่ว่าจะทำได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้แอพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนซึ่งเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก เราละเลยเรื่องนี้เกินไปหรือไม่
การที่เราตระหนักเรื่องความเป็นส่วนตัวและการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลกันมากขึ้นไม่ได้แปลว่าเราจะมีอาวุธป้องกันตัวสำหรับโลกยุคดิจิทัลขึ้นมาได้ทันที ในทางสังคมเราตามหลังการพัฒนาทางเทคโนโลยีอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน ลำพังกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่อาจปกป้องเราได้ เราจะต้องหาความรู้ใส่ตัวและปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ เพราะมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าเกิดขึ้นอยู่เสมอ เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ขณะใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวไปด้วย หรือขณะใช้เว็บไซต์ปัญญาประดิษฐ์ที่พูดโต้ตอบกับเราและแสดงผลบทสนทนานั้น
“เราล้วนถูกผูกติดกับแพลตฟอร์มเฉพาะ”
บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้ใช้ไม่มีทางเลือก จึงต้องยอมรับเงื่อนไขการใช้แพลตฟอร์มหรือเลือกที่จะไม่ใช้ไปเลย แบบนี้ภาครัฐควรจะมีบทบาทอย่างไรในการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกติกาใหม่มีสมัยหนึ่งที่เราแทบจะหาผลิตภัณฑ์อาหารจากระบบการค้าอย่างเป็นธรรมในซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้เลย หากใครจะซื้อกาแฟก็ต้องเลือกเท่าที่วางขายอยู่เท่านั้น หลังจากนั้นจึงค่อยๆ มีสินค้าทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในลักษณะนี้ก็จะเข้าสู่ระบบดิจิทัลด้วยเช่นกัน น่าเสียดายที่ขณะนี้เรายังคงผูกติดอยู่กับแพลตฟอร์มหรือระบบปฏิบัติการเฉพาะ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเข้ามายุติการผูกขาดและส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการทางเลือกมากขึ้น
ทำไมความเป็นส่วนตัวจึงสำคัญนักสำหรับประชาธิปไตย
เสรีภาพในการสื่อสารและเสรีภาพในการแสดงความความคิดเห็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง ประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ไม่ได้หากประชาชนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่า หากพวกเขาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวแล้วจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเองในภายหลัง เช่น ในกรณีที่จะกู้เงินจากธนาคารหรือจะสมัครงาน การเลือกปฎิบัติหรือกีดกันจากเหตุนี้ก็เคยมีเกิดขึ้น ในการโฆษณาขายสินค้าต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน โฆษณาถูกเลือกนำเสนอให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
“พวกเราทุกคนจะมีสิทธิมากขึ้นกว่าแต่ก่อน”
ที่ผ่านมาคุณมีส่วนสำคัญในการวางกฏระเบียบในสหภาพยุโรปเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างเราได้มีการออกกฎหมายใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 2016 ด้วยเสียงข้างมากจากสมาชิกของทั้งจากสภายุโรปและจากคณะมนตรียุโรป โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 เป็นการทั่วไปทุกประเทศในสหภาพยุโรป โดยบังคับใช้กับทุกบริษัทที่มีในตลาดการค้าในสหภาพยุโรป รวมทั้งบริษัทจาก Silicon Valley หรือจากประเทศจีนด้วย ทุกบริษัทล้วนแล้วแต่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปนี้ มิเช่นนั้นก็จะต้องโดนโทษหนัก การออกกฎหมายนี้ทำให้บริษัทต่างๆ นำกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปไปปรับใช้ภายในบริษัทเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศต่อไป
เรื่องใหม่ที่ประชาชนควรรู้มีอะไรบ้าง
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่บริษัทต่างๆ จะต้องจริงจังต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะบริษัทจะรับทราบว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลอย่างไร นอกจากนี้ผู้ใช้บริการแต่ละคนก็มีสิทธิของตนเองมากขึ้น บริษัทจะต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการอย่างละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และจะต้องแจ้งในรูปแบบที่ผู้ใช้งานสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ใช่การอธิบายด้วยข้อความยาวๆ ที่เฉพาะนักกฎหมายเท่านั้นจึงจะเข้าใจ โดยอาจใช้ระบบสัญลักษณ์อย่างง่ายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันก็ได้
คุณมีมุมมองอย่างไรต่อการมีพื้นที่ส่วนตัวท่ามกลางการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลอย่างทั่วถึง
แบบที่ผมอยากให้เกิดขึ้นก็คือ การที่พวกเราทุกคนสามารถกำหนดการใช้และให้ข้อมูลส่วนบุคคลในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง เหมือนเช่นเวลาที่เราซื้อของ เราก็ต้องตัดสินใจอยู่เสมอว่าจะเลือกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด จะชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดหรือผ่านบัตร จะหลีกเลี่ยงร้านค้าหนึ่งหรือไปร้านที่ชอบร้านอื่น ในลักษณะเดียวกันนี้เราก็ควรจะดำเนินชีวิตในโลกดิจิทัลโดยกำหนดเองได้เช่นกัน
ยัน ฟิลิปป์ อัลเบรคท์ | © Fritz Schumann ยัน ฟิลิปป์ อัลเบรคท์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1982 และดำรงตำแหน่งผู้แทนในสังกัดพรรคกรีนในสภาของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เขาเป็นรองประธานกรรมาธิการกิจการภายในและกิจการยุติธรรม และรองกรรมการในคณะกรรมการเพื่อการค้าภายในและการคุ้มครองผู้บริโภค
ยัน ฟิลิปป์ อัลเบรคท์ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจาต่อรองของรัฐสภาสหภาพยุโรปในการกำหนดระเบียบว่าด้วยการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปฉบับใหม่