The other Beethoven(s)

โครงการ “The other Beethoven(s)” จัดขึ้นโดยสถาบันเกอเธ่เพื่ออุทิศให้แก่ ลุดวิค ฟาน เบโธเฟน เนื่องในโอกาสครบรอบ 250 ปีของวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องราวนอกยุโรปที่เขาสนใจในมุมมองใหม่ โดยได้ศิลปินจากเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนีมาร่วมกันถ่ายทอดผลงานของเบโธเฟนให้กลายเป็นภาษาใหม่ที่ร่วมสมัย โดยได้แนวคิดมาจากมุมมองความเป็นสากลของเบโธเฟน นำเสนอออกมาในรูปแบบของการแสดงคอนเสิร์ต ศิลปะจัดวางและศิลปะการแสดงที่จะจัดแสดงที่เยอรมนีและประเทศที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
 

ในปี 2563 นี้จะมีการจัดเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 250 ปีของลุดวิค ฟาน เบโธเฟนทั่วทั้งเยอรมนี งาน “The other Beethoven(s)” ที่สถาบันเกอเธ่จะจัดขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสดุดีผลงานการสร้างสรรค์ของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเมืองบอนน์ รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องราวนอกยุโรปที่เขาสนใจให้เป็นที่รู้จักด้วย ในงานนี้ ศิลปินจากเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนีจะมาร่วมกันถ่ายทอดผลงานของเบโธเฟนให้กลายเป็นภาษาใหม่ที่ร่วมสมัย โดยได้แนวคิดมาจากมุมมองความเป็นสากลของเบโธเฟน และนำเสนอออกมาในรูปแบบของการแสดงคอนเสิร์ต ศิลปะจัดวางและศิลปะการแสดงที่จะจัดแสดงที่เยอรมนีและประเทศที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยได้เริ่มมีการจัดเวิร์คช็อปครั้งแรกไปแล้วที่กรุงเทพในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาและในเดือนมกราคม 2563 ในอิรัก
ในยุคสมัยที่เบโธเฟนอยู่นั้น วัฒนธรรม “ดินแดนตะวันออก” ถูกตีความเป็นส่วนหนึ่งของโลกต่างแดน ที่ในช่วง ค.ศ. 1800 นั้นหมายถึงดินแดนทางตะวันออกที่นับตั้งแต่เวียนนาไปจนถึงจีนและญี่ปุ่น ในวัยเด็กของเบโธเฟนก็เหมือนกับนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ที่ได้ใช้ดนตรี alla turca (ดนตรีเลียนจังหวะมาร์ชตุรกี) มาเป็นองค์ประกอบในดนตรีของเขา เขามีความสนใจเกี่ยวกับการนับถือเทพีไอซิสตามตำนวนอียิปต์โบราณและในช่วงหลังๆ ก็ยังสนใจในวัฒนธรรมอินเดียด้วย ซึ่งเราจะได้สัมผัสอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ในผลงานบางชิ้นของเขาด้วย และในช่วงเวลาที่เบโธเฟนและคนร่วมสมัยของเขานั้นกำลังง่วนอยู่กับการค้นคว้าเรื่อง “โลกตะวันออก” อันแสนแปลกใหม่อยู่นั้น ดนตรีตะวันตกก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ได้รับการเผยแพร่ไปพร้อมๆ กับลัทธิล่าอาณานิคม ทุกวันนี้ดนตรีของเบโธเฟนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและยังเปิดช่องให้เกิดการตีความใหม่ได้อีกมากมายในหลายประเทศเหล่านี้
ตั้งแต่ปี 2563 นี้เป็นต้นไป “The other Beethoven(s)” โครงการต่อเนื่องโดยสถาบันเกอเธ่นานาชาติจะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวตนของเบโธเฟนและผลงานชิ้นเอกของเขา ศิลปินจากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย จีน อียิปต์ กรีซ ฮ่องกง อินเดีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เกาหลี โรมาเนีย ไต้หวัน ไทย ตุรกีและเยอรมนีได้มาทำงานร่วมกันกับสถาบันเกอเธ่ในประเทศของพวกเขาเพื่อพัฒนาผลงานของตนเองขึ้นมา ศิลปินทุกคนจะศึกษาหาร่องรอยของอิทธิพลจากโลกตะวันออกที่พบในงานของเบโธเฟนและในทางกลับกันก็ตามหาร่องรอยของเบโธเฟนที่พบในวัฒนธรรมนอกยุโรป แล้วนำมาตีความเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาร่วมสมัย ผลงานของพวกเขาจะถูกนำไปจัดแสดงทั้งที่ประเทศของตนเองและที่เยอรมนีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองปีแห่งเบโธเฟนในปี 2563 นี้