ทำสวนในเมือง: พื้นที่สาธารณะของชุมชน
การเสวนาออนไลน์ที่ 2 หัวข้อ “ทำสวนในเมือง: ทำได้จริงหรือ?” ภายใต้โครงการ “แซ่บกับเกอเธ่” เป็นการคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำสวนและพื้นที่สีเขียวของคนเมือง ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ
งานครั้งนี้จัดโดยห้องสมุดของสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, สถาบันเกอเธ่ จาการ์ตา, สถาบันเกอเธ่ บันดุง, และสถาบันเกอเธ่ เมียนมาร์ เริ่มจากการเฟ้นหาผู้ร่วมเสวนาที่มีพื้นเพหลากหลายจากเมืองต่างๆ ได้แก่ ทิม ชูมันน์และเยนส์ เอ ไกส์เลอร์ สองผู้อำนวยการห้องสมุดจากเยอรมนี ผู้ผลักดันให้บทบาทห้องสมุดไปไกลกว่าสถานที่อ่านหนังสือ โดยห้องสมุดสามารถเป็นศูนย์รวมในการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของสังคม ข้ามฟากมายังอินโดนีเซีย สถาปนิกซิกิต กุสุมาวิไชยะ และวินาร์ทาเนีย ที่ประสบความสำเร็จจากการเชื่อมโยงคนในชุมชนจนเกิดเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงผลกำไร ส่วนผู้ร่วมเสวนาจากกรุงเทพฯ คือวีรวรรณ กตัญญูวิวัฒน์ นักธุรกิจด้านการก่อสร้างที่สามารถตีโจทย์ชนะอุปสรรคเรื่องพื้นที่ในการปลูกผักบนดาดฟ้าตึกใจกลางสาทร และภัทรสุดา อนุมานราชธน นักแสดงละครเวทีแถวหน้า ผู้รักธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากสวนแรกของแต่ละคนทั้งกลางแจ้งและในร่ม
ผักออร์แกนิคในอินโดนีเซียหาซื้อยากและมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้วินาร์ทาเนียเริ่มต้นทำปลูกผักไร้สารพิษภายในบริเวณบ้านเพื่อเอาไว้กินในครัวเรือน ช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ ล้มลุกคลุกคลานอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเธอจึงเข้าร่วมกลุ่มเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำสวน การปลูกผัก การผสมดิน ความสำคัญของดิน แสงแดด เมล็ดพันธุ์ การเจริญเติบโตของผักแต่ละชนิด จากความต้องการส่วนตัวในตอนเริ่มต้นนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม Indonesia Berkebun เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคน ชุมชน พื้นที่ว่างเปล่า การทำสวนในเมืองและการปลูกผักออร์แกนิคในอินโดนีเซียวีรวรรณเล่าถึงที่มาของสวนผักบนดาดฟ้าอพาร์ตเมนท์ของครอบครัวว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากสวนผักของคุณอาซึ่งเคยปลูกไว้ที่ระเบียงชั้น 4 ของอาคาร โดยระหว่างที่คุณอายังมีชีวิตอยู่ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำสวนให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย ต่อมาเธอจึงปรึกษาคุณพ่อซึ่งเป็นวิศวกรในการทำระบบน้ำและอื่นๆ เพื่อขยายสวนขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก ตอนแรกตั้งใจปลูกเพื่อทานภายในครัวเรือนแบบเดียวกับวินาร์ทาเนีย ต่อมาคนในชุมชนรู้ว่ามีแปลงผักจึงมาขอซื้อผักไปไว้สำหรับบริโภค
การปลูกผักของทั้งสองคนเริ่มต้นจากการปลูกเพื่อตัวเองภายในครอบครัว และสวนผักได้พัฒนาไปสู่การเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคและผู้ปลูก ทั้งคู่สะท้อนว่าพื้นที่ว่างเปล่ามีเยอะแต่เรายังขาดแคลนคนมาทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาด้วยการเพาะปลูก พื้นที่ในอาคารและกลางแจ้งก็สามารถทำสวนผักได้ นอกจากนี้ วีนาร์ทาเนียยังเสริมว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนได้หันมาทำสวนในบ้านเพื่อเป็นการเยียวยาตัวเอง
สถาปนิกและนักออกแบบสายเขียว
สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกอย่าง ซิกิต กุสุมาวิไชยะ ทำควบคู่ไปกับการออกแบบบ้าน อาคาร สถานที่ โรงแรม ร้านอาหาร พื้นที่ต่างๆ คือการเติมพื้นที่สีเขียวเอาไว้ในการออกแบบ ทำให้เห็นว่างานสถาปัตยกรรมโดยตัวงานเอง สถาปนิกสามารถทำให้อาชีพนี้มีส่วนร่วมในการดูแลและถนอมรักษาโลกใบนี้เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งต่อพื้นที่สีเขียวไปยังคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไป เกิดการตระหนักรู้ร่วมกันทั้งระบบในงานออกแบบ ดังนั้น ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของซิกิตจึงถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการทำสวนเมืองให้ยั่งยืนในอินโดนีเซีย เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Indonesia Berkebun เป็นนักปฏิบัติการร่วมกับเพื่อนและเครือข่ายในการพลิกพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำแปลงผัก ทำสวน ปลูกต้นไม้ ในหลายแห่งทั่วอินโดนีเซีย ซิกิตมีความเห็นว่าอันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้เหนือกว่าสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสิ่งของ ดังนั้น การสร้างพื้นที่สีเขียวจึงเป็นการสร้างความเสมอภาคและเพื่อตระหนักรู้ว่าทุกสรรพสิ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ห้องสมุดเป็นสวนแห่งชุมชน
ทิม ชูมันน์และเยนส์ เอ ไกส์เลอร์ สองผู้อำนวยการห้องสมุดจากเยอรมนี สะท้อนบทบาทของห้องสมุดในปัจจุบันว่าเป็นได้มากกว่าห้องสมุดสำหรับยืม คืน อ่าน หนังสือ ทั้งคู่มีโจทย์เดียวกันคือ “ทำไมไม่มีพื้นที่สีเขียวในห้องสมุดและต้องทำอย่างไรเพื่อให้มี?” การจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ จึงทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา และพื้นที่สีเขียวไม่ได้จำกัดแค่เพียงเรื่องการปลูกต้นไม้ ทำสวน แต่คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ ห้องสมุดจึงสร้าง โรงแรมแมลง (Insects Hotel) สำหรับเป็นแหล่งอนุบาลและพักพิงของแมลง เพื่อให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของแมลงต่อระบบนิเวศและยาฆ่าแมลงส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของมันในอนาคต การหาดอกไม้ป่ามาปลูกเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม้ดอกหายาก ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อที่คนในชุมชนสามารถไปสร้างสวนในชุมชนของตัวเอง การพาคนไปสัมผัสกับควายกลางทุ่ง การให้ความรู้เรื่องวิกฤติอาหารและขยะอาหาร ห้องสมุดจึงมีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งเกษตรกร ผู้มาใช้บริการห้องสมุด เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย และเจ้าหน้าที่ และห้องสมุดยังมีส่วนในการเข้าไปกระตุ้นความอยากรู้ ความสนใจ ของคนในชุมชนทำสวนแห่งใจ
ผู้ร่วมเสวนาและผู้ดำเนินรายการได้ให้นิยามของ “สวน” และ “การทำสวน” ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น ในด้านการเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ ธรรมชาติ เกิดการปฏิสัมพันธ์ การสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน นอกจากนี้การทำสวนยังทำให้เราค้นพบพืชและผักที่เป็นเนื้อคู่ของเราเพราะแต่ละชนิดต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ทำให้เรารู้จักการเฝ้ารอคอยและเรียนรู้มัน กล้ายอมรับความผิดพลาดและพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ ยอมให้ตัวเองมือเลอะ ช่วยลดอัตตาไม่ยึดติดการเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังนั้น การทำสวนจึงนำไปสู่การค้นพบสวนแห่งใจของตัวเองในระหว่างการรดน้ำพรวนดินเสมอรับชมย้อนหลังได้ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม