เขียนโดยมาร์ติน ชัค์ท
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย - เรื่องราวแห่งความสำเร็จ

ปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นปีฉลองครบรอบ 60 ปีสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) นับเป็นสถาบันเกอเธ่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปัจจุบันเติบใหญ่เป็นอันดับสามของสถาบันเกอเธ่ที่มีอยู่ทั่วโลก สถาบันเกอเธ่มีบทบาทในการสื่อภาพรวมของประเทศเยอรมนีโดยการให้ข้อมูลข่าวสารด้านสังคม ชีวิตผู้คน และการเมือง พร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีรวมทั้งยุโรป ผ่านการเรียนการสอนภาษา, การทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรม, ความร่วมมือในการจัดเทศกาลต่างๆ การสร้างผลิตและการแลกเปลี่ยนผู้ทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ การละคร นิทรรศการ วรรณคดี ไปจนถึง การแปลภาษาสถาบันฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานการศึกษาของไทย มหาวิทยาลัย และโรงเรียนในทุกภาคของประเทศไทย
ในสถาบันฯ ครูผู้สอนภาษาเยอรมันได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้ทันสมัย ในขณะเดียวกันผู้เข้าเรียนภาษาก็ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมทางภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันจนเกิดความคุ้นเคย ส่วนศิลปินหรือคนทั่วไปผู้ที่ชื่นชอบสนใจประเทศเยอรมนี สถาบันฯ ก็คือ ประตูสู่โลกในชีวิตจริงของคนเยอรมัน
 
ปีค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) สถาบันเปิดทำการครั้งแรกในตึกที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนพญาไทกับถนนศรีอยุธยา ยุคนั้น กรุงเทพฯ ยังไม่มีตึกสูงเสียดฟ้า เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ มีคูคลองไหลทะลุถึงกันหลายสาย มีบ้านไม้ ไสตล์โคโลเนียลหลังงามตั้งเรียงรายอยู่ริมคลอง สถาบันเกอเธ่เปิดทำการแรกเริ่มในสภาพแวดล้อมรื่นรมย์เช่นนั้น ผู้อำนวยการท่านแรกของสถาบันฯ อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มานานหลายปีแล้วโดยประกอบอาชีพเป็นครู ซึ่งในสมัยนั้นงานหลักของสถาบันฯ ก็คือการสอนภาษาเยอรมัน แม้สถาบันฯ ได้ใช้ตึกหลังนั้นเป็นที่ทำการแค่ไม่กี่ปี แต่ก็มีเรื่องราวแปลกๆ ที่ผูกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของสถาบันฯ ซึ่งขาดไปเสียไม่ได้ และดูเหมือนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วด้วยซ้ำ นั่นก็คือเรื่องผีเฝ้าบ้าน โดยชาวบ้านลือกันว่า มักเห็นร่างชายไม่คุ้นหน้าคุ้นตาตนหนึ่งยืนสูบบุหรี่อยู่ที่หน้าต่างบ้านตอนดึกดื่น
 
ในยุคนั้น สถาบันฯ เปิดสอนภาษาเยอรมันภาคค่ำเป็นหลัก แต่ไม่นานนักก็เริ่มชัดเจนว่าต้องหาตึกที่ใหญ่กว่านี้ เพื่อรองรับแผนกกิจกรรมด้านวัฒนธรรม กระทั่งไปพบบ้านใหญ่หลังหนึ่งบนถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร ย่านตัวเมืองเก่าแรกตั้งกรุง ซึ่งไม่ไกลจากถนนข้าวสาร แหล่งรวมนักท่องเที่ยวแบกเป้
ทำเลที่มีบริเวณโดยรอบเช่นนี้เอื้อต่อการตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากในบริเวณใกล้เคียงมีสถาบันและ สถานที่สำคัญระดับชาติหลายแห่งตั้งอยู่ด้วยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความร่วมมือระหว่างสองชาติ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์แห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มหาวิทยาลัยศิลปะ) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ข้อสำคัญก็คือ การที่ได้อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยก็แน่นอนว่า ย่อมมีนักศึกษาและผู้สนใจจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันฯ
 
บ้านพระอาทิตย์นี้มีต้นไม้สูงใหญ่อายุหลายปีหลายต้นขึ้นปกคลุมให้ร่มเงาร่มรื่น ตัวบ้านใหญ่โต เนื้อที่กว้างขวางเสียจนเดินแล้วเมื่อยขา และที่สะดุดตาก็คือ มียอดโดมประดับบนหลังคาทรงสูง ในแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมกอธิค ตัวบ้านก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาวทั้งหลัง หน้าต่างกระจกทรงสูงชะลูด ทั้งหมดดูเชื้อเชิญให้คนภายนอกเข้ามาเยี่ยม เจ้านายไทยเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นเจ้าของบ้านพำนักอยู่ในวังข้างๆ ถนนหน้าบ้านมีรถรางวิ่งผ่านไปมา ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนไทยทุกรุ่นทุกวัยได้เข้ามาสัมผัสกับภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันเป็นครั้งแรก
แม้กระทั่งทุกวันนี้ สถาบันเกอเธ่เก่าที่ถนนพระอาทิตย์ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่หมู่คนไทยรุ่นอาวุโสเล่าขานถึงด้วยความชื่นชม
 
กรุงเทพฯ ในทศวรรษ 1960 คนไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับฟังดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีแจ๊ส แต่ที่สถาบันเกอเธ่มีสถานที่เหมาะสำหรับจัดคอนเสิร์ตแบบอบอุ่นและเป็นกันเองที่ห้องชั้นบน ห้องนี้ยังใช้เป็นห้องซ้อมดนตรีสำหรับวงออร์เคสตร้า Pro Musica Orchestra (โปร มูซิกา ออร์เคสตร้า) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน
 
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 กิจการสอนภาษาเยอรมันของสถาบันเกอเธ่ขยายตัวอย่างมหาศาล จนต้องเช่าบ้านบนพื้นที่ของบ้านพระอาทิตย์เพิ่มอีกหลังหนึ่ง ในยุคนั้น ภารกิจสำคัญของสถาบันฯ ก็คือ การฝึกอบรมภาษาเยอรมันเพิ่มเติมให้แก่ครูไทยผู้สอนภาษาเยอรมัน และการสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในช่วงหลายปีนั้น สถาบันฯ ก็ได้ริเริ่มบทบาทการเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสมัยนิยมในประเทศไทย งานกิจกรรมทุกงานหมายถึงการได้พบปะกับผู้มีชื่อเสียงด้านศิลปกรรมและด้านวัฒนธรรมแขนงต่างๆ
สถาบันฯ เสนอตัวเป็นเวทีสนทนาเชื่อมวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมเอเชีย
 
แล้วสถาบันเกอเธ่เองก็เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยจิตใจปฏิรูปใหม่ ในยุคนั้นศิลปินต่างประสบความยากลำบากในการจัดแสดงผลงานของตน สถาบันฯ ก็เอื้อฟื้อห้องในบ้านพระอาทิตย์ให้ศิลปินใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการ ส่งให้ศิลปินกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ปัจจุบัน หลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังถึงระดับนานาชาติ ในปีค.ศ. 1971 (พ. ศ. 2514) สถาบันฯ ได้จัดแสดงงานจิตรกรรมของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินหนุ่มผู้ถูกประณาม แต่ต่อมาเขากลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย วันนี้ผลงานของเขาติดตั้งอยู่ในแทบทุกห้องแสดงของ MOCA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย) บ้านของเขา “บ้านดำ” ในเชียงรายกลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำหรับผู้รักศิลปะ แต่นอกเหนือจากกิจกรรมด้านศิลปะแล้ว หนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันเกอเธ่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ การก่อตั้งวงดุริยางค์ซิมโฟนีในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นจากวง Pro Musica Orchestra (โปร มูซิกา ออร์เคสตร้า) ที่มีอยู่แล้ว โดยใช้ชื่อว่า Bangkok Symphony Orchestra (วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ)
และเช่นกัน ที่นี่ในตึกบ้านพระอาทิตย์ก็ไม่พ้นมีเรื่องคนเห็นผีให้ได้ขนลุกกัน ว่ากันว่าวิญญาณร่างนั้นปรากฏตัวในห้องประชุม พวกพนักงานพากันนับถือท่าน ว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางผีบ้านผีเรือนให้ความคุ้มครองที่ใครกราบไหว้บูชาแล้วจะได้ในสิ่งที่ประสงค์
 
ปีค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) เป็นปีฉลองก่อตั้งสถาบันฯ ครบรอบ 25 ปี ก็มีการกำหนดวันทำบุญขึ้น และนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาทำพิธีตามธรรมเนียมทางพุทธศาสนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถาบัน หลังจากวันนั้นไม่นานก็มีผู้หยิบยื่นข้อเสนอสร้างอาคารใหม่ในเขตทุ่งมหาเมฆในบริเวณใกล้เคียงกับสถานทูตเยอรมัน เพื่อสนองความต้องการของผู้สนใจวัฒนธรรมเยอรมันที่เพิ่มมากขึ้น นักธุรกิจคนนึงชื่อ คาร์ล แวร์เนอร์ ดรูส อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานและได้ลงทุนทำธุรกิจที่นี่จนมีทรัพย์สินมั่งคั่ง เขาต้องการทำสิ่งที่ดีให้สังคม ที่ดินผืนดังกล่าวนั้นเขาได้สัญญาเช่าที่ดินระยะยาว เขาจึงประสงค์บริจาคสิทธิใช้ที่ดินพร้อมกับการก่อตั้งมูลนิธิวัฒนธรรมไทย - เยอรมัน (TDKS) ซึ่งเป้าหมายของมูลนิธิวัฒนธรรมไทย - เยอรมัน ก็คือการส่งเสริมมิตรภาพเยอรมัน - ไทย ซึ่งหมายถึงการดำเนินกิจการในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่สุดที่สถาบันเกอเธ่จะได้รับข้อเสนอให้ลงเรือลำเดียวกัน
 
บนที่ดินที่มีสัญญาเช่าระยะยาวผืนนั้นมีบ้านสไตล์โคโลเนียลตั้งอยู่แล้ว ซึ่งมีสไตล์คล้ายคลึงกับสโมสรเยอรมันแห่งหนึ่งบนถนนสาทรสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ก็ยังมีเนื้อที่อีกเหลือเฟือสำหรับสร้างตึกใหม่ แถมสถาบันเกอเธ่ยังสามารถรับการสนับสนุนด้านทุนเงินกู้จากดรูสได้อีกด้วย แม้การเปลี่ยนแปลงทำเลที่ตั้งอาจส่งผลให้สถาบันฯ สูญเสียกลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรในพระนครไปบ้าง แต่ความเป็นไปได้ที่จะตั้งต้นยุคใหม่ก็อยู่เหนือความพะวักพะวน ดังนั้นในปีค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เฮลมุท โคห์ล อยู่ระหว่างการเยือนประเทศไทย ท่านจึงได้รับเชิญมาทำพิธีเปิดแพรคลุมป้ายมูลนิธิ ถือเป็นฤกษ์ประเดิมการก่อสร้างอาคารใหม่ที่วางแผนไว้
 
ส่วนที่เหลือให้เล่าต่อก็คือเรื่องราวแปลกๆ ที่แฝงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของสถาบัน: ในปีค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) หลังจากเปิดตึกที่ทำการใหม่ไปได้ไม่นาน วิญญาณผู้คุ้มครองสถาบัน ณ ที่แห่งใหม่ก็ปรากฏตัวในร่างของ "ฝรั่ง" สวมชุดแต่งกายสไตล์โคโลเนียล โดยมีคนเห็นท่านที่ท้ายสระว่ายน้ำ พนักงานเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของที่ปรึกษาข้าราชการต่างชาติในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในตึกหลังเก่าแล้วลื่นล้มเสียชีวิตในห้องน้ำ
 
ในปีค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ซอยที่ตั้งของสถาบันได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นซอยเกอเธ่ ที่ซึ่งทุกวันนี้คนขับรถแท็กซี่หลายคนในกรุงเทพฯ รู้พิกัดดี โดยไม่ต้องใช้จีพีเอส และไม่ต้องสอบถามหาหนทางจากแหล่งใดทั้งสิ้น แทบไม่ต้องหาอะไรมาพิสูจน์ยืนยันกันแล้ว ด้วยชัดเจนว่าสถาบันเกอเธ่เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาหลายทศวรรษแล้ว ชื่อนี้เป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักคุ้นหูกันดี สถาบันเกอเธ่มีห้องเรียน ห้องสมุด โรงอาหาร และร้านอาหารเยอรมัน "Ratsstube" (ราทชตูเบอ) ปัจจุบัน สถาบันฯ เป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตชีวาในหมู่นักเรียนนักศึกษาภาษาเยอรมัน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หอประชุมได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ให้ทันสมัยและเปิดตัวอีกครั้งในปีค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) เสนอความเฟี้ยวฟ้าวด้วยเทคโนโลยีชั้นเลิศที่ให้เสียงอะคูสติกยอดเยี่ยม กับพื้นที่ที่ลงตัวอย่างเหลือเกินสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต ฉายภาพยนตร์ และแสดงละครเวที สถาบันเกอเธ่เป็นสถานที่ของการปะทะสังสรรค์ระหว่างเยอรมนีกับประเทศไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เต็มเปี่ยมด้วยมิตรภาพที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และในอนาคตสถาบันฯ ก็จะส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศให้ยั่งยืนต่อไป