ศ.ดร.ทอร์เบน ชมิดท์ นักการศึกษาด้านภาษาต่างประเทศเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในสาขาการเรียนภาษาต่างประเทศดิจิทัล ในบทสัมภาษณ์กับดร.มอริทซ์ ดิทไมเยอร์ ดร.ชมิดท์อธิบายว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนภาษาต่างประเทศมีศักยภาพอะไรและมีความท้าทายอย่างไรบ้าง
ปัญญาประดิษฐ์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะในด้านการประมวลภาษาธรรมชาติและความเป็นไปได้ในการประมวลข้อมูลมหาศาลทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือและโปรแกรมมากมายเพื่อสนับสนุนทักษะการพูดและการเขียนในชีวิตประจำวัน
ทว่าการพัฒนาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสาขาการเรียนภาษาต่างประเทศและแนวทางในการสอนและเรียนภาษาต่างประเทศอย่างไร มีเทคโนโลยี AI ใดบ้างที่เหมาะจะนำมาใช้ในการสนับสนุนการเรียนภาษาต่างประเทศและการใช้ AI มีความท้าทายเรื่องใดมากที่สุด และเรื่องเหล่านี้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อครูในการสอนในชั้นเรียนและออนไลน์
ศ.ดร.ทอร์เบน ชมิดท์ เป็นศาตราจารย์ด้านการศึกษา ภาษาอังกฤษ
| มหาวิทยาลัยลอยฟานา ลูเนบวร์ก
ศ.ดร.ทอร์เบน ชมิดท์ เป็นศาตราจารย์ด้านการศึกษา ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยลอยฟานา ลูเนบวร์ก ในบทสัมภาษณ์นี้ ดร.ชมิดท์จะมาพูดคุยกับมอริทซ์ ดิทไมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ Goethe-Lab Sprache แผนกนวัตกรรมสหสาขาของสถาบันเกอเธ่เกี่ยวกับการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการเรียนรู้ดิจิทัล
ศ.ดร.ชมิดท์ คุณเป็นศาสตราจารย์ด้านการสอนภาษาอังกฤษ เราจะสามารถนำการเรียนและการสอนภาษาอังกฤษมาใช้กับภาษาเยอรมันได้อย่างไร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาด้านการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนมากเหลือเกิน
ศาสตร์การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ (DaF) ไม่ได้แยกออกจากกันมากนัก โดยเฉพาะเนื่องจากการเรียนดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงค่อนข้างมาก อันที่จริงแล้วเราจึงเป็นเหมือนชุมชนใหญ่ กรอบความคิดจึงข้ามข้อจำกัดด้านสาขาและภาษาและมีความคล้ายคลึงกัน ถึงอย่างนั้นผมก็คิดว่าวิชาภาษาอังกฤษมีข้อได้เปรียบบางอย่าง ด้วยข้อเท็จริงที่ว่ามีผู้ใช้ภาษาอังกฤษเยอะกว่ามากอย่างเห็นได้ชัด เรายังมีตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์และโครงการด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เยอะกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ไอเดียหลายอย่างจากสาขาศึกษาศาสตร์ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะด้านการเรียนภาษาต่างประเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุน
การเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุน คุณช่วยอธิบายสั้นๆได้ไหมครับว่ามันหมายถึงอะไร
การเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุนไม่ใช่คำใหม่ Computer Assisted Language Learning หรือเรียกย่อๆว่า CALL เป็นเรื่องที่มีมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยทั่วไปจะหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการเรียนและการสอนภาษาต่างประเทศ ผมขอแบ่งออกเป็นสามด้านดังนี้ :
ด้านแรก เกี่ยวกับการสร้าง ระบบฝึกหัดอัจฉริยะ ที่เราสามารถใช้ในการฝึกฝน เช่น ไวยากรณ์ คำศัพท์หรือการฟังได้ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลช่วยให้โปรแกรมเหล่านี้สามารถให้ฟีดแบคที่ดีที่สุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเรียนแก่ผู้เรียนหรือผู้สอนได้
ด้านที่สองคือ การพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยผู้เรียนในการแปล เช่น บทอ่านหรือแม้แต่การเขียนเรียงความ
การนำเสนอปากเปล่าก็มีโปรแกรมที่ช่วยเหลือผู้เรียนเช่นกัน โดยจะช่วยในการออกแบบสไลด์หรือแก้ไขปรับปรุงบทพูดทั้งด้านภาษาและเนื้อหา
ด้านที่สามคือการใช้สื่อในการสอน ทั้งในแง่เป็นเนื้อหาและกระตุ้นความคิด การเข้าถึงสื่อภาษาต่างประเทศกลายเป็นเรื่องง่ายดายมาก การบูรณาการสื่อดิจิทัลในการสอนสามารถช่วยให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกรอบความคิดและวัจนกรรม (Sprachhandlung) ของแท้ได้
ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่เปลี่ยนกิจกรรมของผู้สอนไปอย่างมากมายเช่นกัน
ก่อนที่เราจะลงลึกเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสำหรับครู ผมอยากพูดถึงประเด็นปัญญาประดิษฐ์ก่อน โดยเฉพาะด้านการเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุนซึ่งตอนนี้การใช้ AI มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เราควรมองภาพ AI อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรและเราจะได้รับประโยชน์จาก AI ในด้านการเรียนภาษาต่างประเทศได้มากแค่ไหน
© Colourbox
สิ่งที่น่าสังเกตคือเทคโนโลยีหลายอย่างที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นมีบทบาทสำคัญมากในชีวิตประจำวันของเราเช่นกัน ซึ่งหมายถึงเทคนิคทุกอย่างที่เกี่ยวกับการตรวจจับภาษา (Spracherkennung) และการประมวลภาษาอัจฉริยะ (intelligente Sprachverarbeitung) ตอนนี้มีระบบครอบคลุมที่มีพื้นฐานมาจากข้อมูลการพูดและตัวบทมหาศาลและใช้ AI เพื่อทำความเข้าใจและสร้างระบบขึ้น เราทุกคนรู้จักผู้ช่วยหลากหลายในสมาร์ทโฟน ซึ่งเราสามารถถามข้อมูลเกี่ยวกับอากาศพรุ่งนี้ได้หรือสามารถช่วยให้เราเขียนและแปลข้อความได้โดยไม่ผิดพลาดเลย
ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในการสอนภาษา เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่าอะไรคือหน้าที่หลักและสมรรถภาพของผู้สอน ในจุดนี้ผมของเน้นย้ำสองประเด็น แม้ว่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องเยอะกว่านั้นมากในการเป็นครูที่ดี ด้านหนึ่งคือการเชื่อมโยงระหว่างแบบฝึกหัดและเนื้อหา และการวิเคราะห์ความสามารถของผู้เรียน
การพัฒนาให้มีกรอบหรือระบบสนับสนุนการเรียนที่ปรับให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียนในกระบวนการฝึกฝน พร้อมกับให้ฟีดแบคที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งที่ผมอยากเห็นในบริบทของผู้สอน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะเจาะเฉพาะบุคคล การวิเคราะห์ความสามารถในปัจจุบันจะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้สามารถพัฒนาก้าวต่อไปได้
© Goethe-Institut
เราน่าจะเห็นระบบฝึกฝนเพิ่มเติมอัจฉริยะมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ความอัจฉริยะของระบบเหล่านี้มีความโดดเด่นตรงที่มันสามารถวิเคราะห์เส้นทางการเรียนและความผิดพลาดของผู้เข้าเรียนได้
มันจะสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่ผู้เรียนจะแก้ไขโจทย์บางอย่างด้วยความรู้ที่ระบบกำหนดมาได้สำเร็จ นอกจากนั้นระบบยังสามารถประเมินได้ด้วยว่าจะให้ฟีดแบคที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนอย่างไร
อะไรทำให้ระบบอัจฉริยะเหล่านี้มีความโดดเด่น ทำไมเราจึงควรสนับสนุนครูด้วย AI
ในสถานการณ์ปกติ ครูคนหนึ่งจะมีนักเรียน 20-30 คนในหนึ่งกลุ่มและคอยสังเกตพฤติกรรมการเรียนของพวกเขา ข้อได้เปรียบของ AI คือมันสามารถวิเคราะห์ผู้เรียนนับพันได้โดยไม่จำกัดกลุ่มและโรงเรียน ซึ่งทำให้เราสามารถกำหนดได้ดีขึ้น อย่างเป็นระบบและเร็วมากขึ้นว่าโจทย์ใดที่เหมาะกับผู้เรียนคนไหนและในเวลาใดและโจทย์ไหนยังไม่เหมาะสม
แต่นอกจากเรื่องการฝึกฝนแล้ว AI ยังช่วยในการเลือกเนื้อหาได้ด้วย หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบช่วยเหลือครูผู้สอนนั่นเอง ปัจจุบัน หากพูดง่ายๆ ส่วนใหญ่ครูจะเลือกตัวบทหนึ่งจากหนังสือสำหรับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งให้นักเรียนทุกคนทำ แต่เทคโนโลยีไม่ได้แค่ช่วยผู้สอนในการหาบทอ่านเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับบทให้ง่าย แก้ไขหรืออาจจะสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดเลย เพื่อสร้างเป็นรายการบทอ่านที่มีภาษาเหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญยิ่งในด้านการตอบสนองความแตกต่างในกระบวนการเรียนรู้
คุณได้อธิบายว่าตอนนี้มีโปรแกรมมากมายที่ช่วยสนับสนุนครูในการออกแบบการสอนภาษาให้น่าตื่นเต้น เหมาะกับรายบุคคลและอนาคต ขอถามในมุมกลับกันว่า เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะ AI จะเป็นภัยคุกคามต่อครูดั้งเดิมที่เป็นมนุษย์หรือเปล่า คุณจะบอกติวเตอร์ในคอร์สออนไลน์ที่กลัวว่าสักวันจะไม่มีงานทำว่าอย่างไร
ไม่จำเป็นต้องกลัวเลยครับ ผมขอรับรองตรงนี้ได้เลย เรายังต้องการครูอยู่ ครูผู้เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี ครูที่สามารถใช้เนื้อหาและวิธีการที่สำคัญ น่าสนใจเฉพาะทางได้อย่างช่ำชอง รวมถึงสามารถวิจารณ์และนำมาทบทวนได้ หรือแม้แต่ในการวางแผนการสอนหรือการสนับสนุนผู้เรียนแต่ละคนด้วยความเข้าอกเข้าใจก็ยังคงจำเป็นอยู่
นอกจากนั้น ยังมีหลายสาขาที่เทคโนโลยีการเรียนรู้ก้าวหน้าไปมาก ได้แก่ ด้านการฝึกฝนที่มุ่งเน้นรูปแบบ การเรียนรู้รูปแบบง่ายๆในการสื่อสารโดยการเขียนและพูด รวมถึงการใช้โปรแกรมเครื่องมือในการเรียนสมรรถนะทางภาษาบางอย่าง ซึ่งในจุดนั้นผมคิดว่าระบบอัจฉริยะจะช่วยสนับสนุนได้ดีมาก
แต่ในจุดนี้ การมีความรู้ด้านข้อมูลของครู (Data Literacy จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยครูต้องรู้จักวิธีการใช้งานและสามารถใช้ข้อมูลและผลที่ประมวลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้มีงานวิจัยบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ระบบดิจิทัลอัจฉริยะในห้องเรียน เช่น ในการทำแบบฝึกหัด ได้นำไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้น
ปัจจุบัน แบบฝึกหัดแบบอะนาลอกมักจะดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ โปรแกรมสนับสนุนจะสามารถช่วยให้ครูได้วิเคราะห์สถานะการเรียนและวางแผนได้สอดคล้องกัน เมื่อครูเปลี่ยนมาใช้แบบฝึกหัดดิจิทัลมากขึ้นและใช้สิ่งที่เรียกว่า Teacher-Dashboard ซึ่งช่วยประมวลข้อมูลผู้เรียนในขั้นตอนแบบฝึกหัดมากขึ้น ครูจะได้รับข้อมูลโดยอัตโนมัติว่านักเรียนคนใดมีปัญหาหนักสุด และปัญหาอยู่ที่ไหนและการสอนขั้นต่อไปตามที่วางแผนไว้จะมีประโยชน์หรือไม่ หรืออาจต้องอธิบายเพิ่มเติมให้ลงลึกมากขึ้น
ครูจะสามารถเดินไปหาผู้เรียนโดยตรง และอธิบายเรื่องนั้นอีกรอบ และให้โจทย์อื่นซึ่งอาจเป็นโจทย์ที่ระบบเสนอขึ้นมาก็ได้
ผมอยากให้ครูได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ครูมีความสามารถในการใช้ระบบดิจิทัลโดยเฉพาะในขั้นตอนการฝึกฝนได้อย่างช่ำชอง
อนาคตของการเรียนภาษาจึงอยู่ที่การเรียนแบบผสมผสาน กล่าวคือ การผสมผสานระหว่างการสอนที่เหมาะเจาะ ปราศจากคอมพิเตอร์ เข้ากับเนื้อหาที่น่าตื่นเต้น ถูกจังหวะและระยะฝึกฝนดิจิทัลซึ่งมีเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับผู้เรียนเป็นรายบุคคลและการใช้โปรแกรมเครื่องมืออัจฉริยะโดยรวม
สุดท้าย ผมอยากพูดถึงการทำงานของเราที่สถาบันเกอเธ่สักหน่อยครับ
คุณอยากแนะนำสถาบันเกอเธ่อะไรบ้าง เราควรพัฒนาแอพเรียนภาษาอัจฉริยะสำหรับพกพาหรือควรปรับปรุงหลักสูตรที่เนื้อหาและวิธีการสอนมีคุณภาพ แต่มีโครงสร้างแบบดั้งเดิมให้ทันสมัยมากขึ้นต่อไป
ผมคิดว่าเราควรค่อยๆสอดแทรกเทคโนโลยีใหม่ให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรที่มีอยู่แล้วทีละจุดและทีละขั้น ไม่ว่าอย่างไรเราควรเริ่มต้นจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของสถาบันเกอเธ่และลักษณะเฉพาะของหลักสูตรสถาบัน
และคงไม่จำเป็นจะต้องเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มไวยาการณ์เยอรมันที่เหมาะกับผู้เรียนที่ดีที่สุดเอง เพราะเพื่อการนั้น คงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปและต้องมีข้อมูลภาษามหาศาลก่อน
ผมจะดูก่อนว่าโครงสร้างคอร์สเป็นอย่างไรและจุดไหนบ้างที่สามารถใช้เทคโนโลยีและวิธีการที่มีอยู่ช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างที่นึกได้ เช่น เครื่องมือที่สนับสนุนการพูดโดยเฉพาะ แชตบอตสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับสถานการณ์เฉพาะและรูปแบบการสื่อสารบางอย่างได้
นอกจากนี้ ผมอาจจะพิจารณาว่าสถาบันจะพัฒนาเครื่องมือเล็กๆของตนเองในด้านใดได้บ้าง ผมนึกถึงเครื่องมือ AI เช่น
เครื่องมือฝึกฝนคำภาษาเยอรมันใช้บ่อยที่สุด 1000 คำ และถึงแม้ว่าจะมีโปรแกรมอยู่แล้ว ก็อาจมีโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นเฉพาะของเกอเธ่ที่มุ่งเน้นคำศัพท์จากหลักสูตรของสถาบันเกอเธ่โดยเฉพาะ
นอกจากนั้น เรื่องการวินิจฉัยและฟีดแบคก็มีความสำคัญมาก เช่น เราจะใช้
ระบบอัจฉริยะช่วยให้ผู้เรียนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเรียน ความก้าวหน้าและข้อบกพร่องของตนเองได้อย่างไร สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์อีกประการคือการรวบรวมข้อมูลจากหลายหลักสูตรเพื่อค้นหาความผิดพลาดและปัญหาของผู้เรียนที่พบบ่อย ซึ่งจะช่วยให้สถาบันพบว่าจะต้องออกแบบหลักสูตรและฟีดแบคในอนาคตอย่างไรเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการเรียนได้มากที่สุด
สรุปคือขอให้คุณมั่นใจได้เลย คุณมีคลังข้อมูลจำนวนมหาศาลอยู่ในมือ หากนำมาใช้ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์แล้ว คุณจะสามารถทำสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้ดีมากขึ้นไปอีก
ขอบคุณดร.ชมิดท์สำหรับไอเดียและการให้กำลังใจในตอนท้ายนะครับ ขอบคุณสำหรับการสัมภาษณ์ในวันนี้ครับ