PAPER CINEMA: ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในงานของ Wim Wenders

PAPER CINEMA: ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในงานของ Wim Wenders © Kanitpannee Nimsrithong

กิจกรรม Paper Cinema ชวนมารู้จักภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวโดยโฟกัสไปที่ผลงานผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมัน Wim Wenders ที่เรารู้จักกันดีจากผลงานหลายเรื่อง เช่น ไตรภาคหนังโร้ดทริป Alice in the Cities (1974), The Wrong Move (1975), และ Kings of the Road (1976), Paris, Texas (1984), Wing of Desires (1987) หรือเรื่องล่าสุด Perfect Day (2023)

Wim Wenders ไม่ได้มีผลงานแค่การกำกับภาพยนตร์ แต่เขายังเป็นนักเขียน, ศิลปินภาพถ่าย และสร้างผลงานนิทรรศการภาพถ่ายและหนังสืออย่างต่อเนื่อง เรามักจะเห็นภาพถ่ายบนกระดาษหนึ่งใบปรากฏในภาพยนตร์ของเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาพโพลารอยด์ไร้สีที่บันทึกการเดินทางข้ามทวีป, ภาพถ่ายบ้านหลังเก่าที่หาทางกลับไม่เจอ, ภาพถ่ายสีจางของป้ายประกาศขายที่ดินเปล่า, ภาพถ่ายจากตู้ถ่ายภาพอัตโนมัติในสถานีรถไฟในเบอร์ลิน หรือภาพถ่ายขาวดำ แสงระยิบระยับรำไรผ่านเงาใบไม้ ภาพถ่ายเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญะเชื่อมโยงเรื่องเล่าหลักของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ หรือกระทั่งการปรากฏขึ้นของตัวละครที่เป็นช่างภาพหรือตัวละครที่ใช้กล้องถ่ายภาพในภาพยนตร์ จึงสังเกตได้ว่า ‘ภาพถ่าย’ เป็นหัวใจของการเล่าเรื่องในตัวบทภาพยนตร์ของ Wim Wenders เสมอมา

นอกจากภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์แล้ว เขายังจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่พิพิธภัณฑ์ และตีพิมพ์หนังสือภาพรวมถึงงานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับภาพถ่ายอีกหลายเล่ม การทำงานของเขาบนสื่อต่างๆ นั้น นับเป็นการขยายขอบเขตและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสองศาสตร์ของการเล่าเรื่อง ที่ว่าด้วย ’ภาพถ่าย’ และ ‘ภาพยนตร์’ เป็นเสมือนบทสนทนาต่อกันระหว่าง ‘ภาพนิ่ง’ และ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ทำให้ ‘ภาพ’ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในสื่อใดสื่อหนึ่งหรือถูกแช่แข็งคงที่ไว้จากจุดเริ่มต้นของแต่ละศาสตร์  ผลงานของเขาจุดประกาย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน นักอ่านและผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก

มาทำความรู้จัก Wim Wenders ในกิจกรรมระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ที่ Vacilando และสถาบันเกอเธ่ฯ

ย้อนกลับ