การทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมเยียนเมืองหลวงเยาวชนยุโรป
25 มิถุนายน– 9 กรกฎาคม 2565

Incubation Workshops

Incubation Workshops | © RTUS


การทัศนศึกษาจัดขึ้นในปี 2565 เพื่อเยี่ยมเยียนเมืองจำนวน 4 เมืองในสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบด้วยเบอร์ลิน (เยอรมนี) และเมืองหลวงเยาวชนยุโรป 3 เมือง ได้แก่ ไคลเปดา (ลิทัวเนีย) คลุจ-นาโปกา (โรมาเนีย) และเทสซาโลนีกี (กรีซ) โดยการทัศนศึกษานี้ได้ถูกออกแบบร่วมกับเวทีเยาวชนยุโรป (European Youth Forum) และเมืองหลวงเยาวชนยุโรป (European Youth Capital) เพื่อมุ่งเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนและการสานสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทยและยุโรป และเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในประเด็นเมือง ผู้เข้าร่วมจำนวน 9 คนจากเมืองภาคีทั้ง 5 เมืองในประเทศไทย (กรุงเทพ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น และกาญจนบุรี) จากผู้สมัครจำนวน 39 คนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการมาก่อนหน้านี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและพี่เลี้ยงจำนวนอีก 5 คน และเจ้าหน้าที่โครงการจำนวน 3 คน
 
Incubation Workshops

Incubation Workshops | © RTUS


การทัศนศึกษาเริ่มจากการปฐมนิเทศระยะเวลา 2 วันเพื่อแนะนำกิจกรรม ซึ่งจัดขึ้นที่ POP KUDAM  โดยมีศ. ดร. อังเกลา มิลเลียน ผู้อำนวยการศูนย์ระดับโลกด้านระเบียบวิธีเชิงพื้นที่สำหรับความยั่งยืนในเมือง มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน และดร. อันนา ยูเลียนเนอ ไฮน์ริค เป็นเจ้าภาพ ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผลในการให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางผังและออกแบบเมืองในบริบทประเทศเยอรมนี และบทบาทที่สำคัญของเด็กและเยาวชนในการพูดคุยสาธารณะและการตัดสินใจ ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีแบบห้าขั้นตอน “สำรวจ (explore) จินตนาการ (envision) ออกแบบ (design) นำเสนอ (present) เปลี่ยนแปลง (change)” จากกิจกรรมที่จัดโดย JAS สมาคมไม่แสวงหาผลกำไรแนวหน้าในด้านการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมปลูกสร้างสำหรับเด็กและเยาวชน และภาควิชาสิทธิในการวางผังเมือง การก่อสร้าง และสิ่งแวดล้อมของสถาบันการวางผังเมืองและภูมิภาค (IRS) มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการรับรู้พื้นที่ที่นำโดยดร. อันนา ยูเลียนเนอ ไฮน์ริค มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการให้ผู้เข้าร่วมนำขั้นตอนบางส่วนที่ได้เรียนรู้ไปทดลองปฏิบัติจริง คณะเยาวชนริทัศน์ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเยาวชนสองกลุ่ม ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนเขตชาร์ล็อทเทินบวร์ค-วิลเมิร์สดอร์ฟ (KJP) และกลุ่มเออร์บานเนอลิกา

กำหนดการในเมืองยุโรปอีกสามเมือง อันได้แก่ ไคลเปดา (ลิทัวเนีย) คลุจ-นาโปกา (โรมาเนีย) และเทสซาโลนีกี (กรีซ) ถูกออกแบบเพื่อนำเสนอระบบนิเวศของการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมืองของแต่ละเมือง และเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ในแต่ละเมืองในการได้คัดเลือกเป็นเมืองหลวงเยาวชนยุโรป อันที่จริงแล้ว เมืองเหล่านี้ต่างเคยประสบปัญหาการขาดการมีส่วนร่วม โอกาส และพื้นที่ทางกายภาพสำหรับเยาวชนทั้งสิ้น โดยแต่ละเมืองได้นำทางออกที่สร้างสรรค์และมีนวัตกรรมไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาในบริบทท้องถิ่นของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลเมืองไคลเปดาได้ลงทุนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนเป็นจำนวนมาก และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่าย KLAS ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรเยาวชน 31 องค์กรและเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการที่เมืองได้รับเลือกเป็นเมืองหลวงเยาวชนยุโรปปี 2564
 
Incubation Workshops

Incubation Workshops | © RTUS


ขบวนการณ์เยาวชนของเมืองคลุจ-นาโปกามีจุดเริ่มต้นจากเยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่รวมตัวตั้งองค์กรชื่อ PONT เพื่อเรียกร้องให้เทศบาลเมืองหันมาให้ความสนใจต่อความสำคัญของการได้รับเลือกเป็นเมืองเยาวชนยุโรปปี 2558 จากที่รางวัลดังกล่าวไม่ได้รับความสำคัญในตอนแรก แต่ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของกลุ่มเยาวชนได้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเมืองที่หลากหลายและนำพาพวกเขามายืนอยู่จุดในปัจจุบัน ได้แก่การเป็น “หุ่นส่วนเยาวชนที่เข้มแข็ง” ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของเมือง นายเอมิล บ็อก เทศมนตรีเมืองคลุจ-นาโปกายึดถือคติ “NOT EGO BUT ECO” ในการทำงาน ซึ่งหมายความว่า “เราทำงานเป็นระบบนิเวศ ไม่ใช่ระบบอัตตา เราทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในสังคม”
 
Incubation Workshops

Incubation Workshops | © RTUS


สำหรับเมืองเทสซาโลนีกี การได้รับคัดเลือกเป็นเมืองหลวงเยาวชนยุโรปปี 2557 เป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการณ์เยาวชน ซึ่งถูกต่อยอดโดย KEDITH วิสาหกิจชุมชนของเทศบาลเมืองเทสซาโลนีกี ที่มุ่งเน้นการวางแผน การจัดการ และการปฏิบัติกิจกรรมและโครงการสำหรับเยาวชน อาสาสมัครจาก Katerini (เครือข่ายการทำงานกับเยาวชน) ร่วมกับ KEDITH เป็นผู้นำกำหนดการระยะเวลาสองวันที่เมืองเทสซาโลนีกี โดยกระบวนการได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทยและกรีกอย่างเข้มข้นในระดับบุคคล
 
Incubation Workshops

Incubation Workshops | © RTUS

​​​​​​​
ในภาพรวม บทบาทของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านโครงการต่าง ๆ ถูกมองว่าเป็นตัวผลักดันความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในมุมมองของเยาวชน ทัศนศึกษาเป็น “ประสบการณ์ที่มีค่าและไม่สามารถทดแทนได้” ที่ช่วย “เปิดโลกทัศน์” บางคนอธิบายความประทับใจผ่านภาพเหตุการณ์ทั่วไปในสังคมที่ตนเองพบเห็นในเมืองต่าง ๆ เช่น ผู้คนพูดคุยหรือเล่นกันหรือกำลังพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่สาธารณะ คู่รักจูบกอดกันบนท้องถนน ผู้พิการใช้การขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งเป็นภาพที่มีความหมายที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า เมืองในยุโรปถูกออกแบบให้ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บางคนเรียกมันว่า “ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง” หรือบางคนอาจเรียกมันว่า “สำนึกในความเป็นเจ้าของ” สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในเมืองของตนเองในประเทศไทย

ทั้งผู้เข้าร่วมไทยและยุโรปได้ตระหนักถึงการต้องเผชิญความท้าทายบางประการในการกระตุ้นให้เยาวชนในวงกว้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง โดยผู้เข้าร่วมได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการมีสำนึกความเป็นเจ้าของในระดับต่ำอย่างเป็นห่วงในเมืองของตนกับเพื่อน ๆ ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ “สมองไหล” ยกตัวอย่างเช่น เมืองไคลเปดาได้ค้นพบทางออกในการเข้าถึงและชักชวนเยาวชนที่มาจากพื้นที่ที่แตกต่างและมีความสนใจที่หลากหลายให้มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนและจัดกิจกรรมที่ “สนุกสนาน” ในประเด็นที่เยาวชนสนใจ ณ ขณะนั้น การจัดกิจกรรมในประเด็นที่ไม่ได้สัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองโดยตรง อาทิ กีฬา กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม หรือการเล่นสเก็ต ยังมีประโยชน์ในการดึงดูดเยาวชนให้เข้ามาใกล้ชิดกับเครือข่าย