เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีประชากรราว 1.76 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณมี "คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรม และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเริ่มวางตัวเป็นนครสร้างสรรค์ และได้รับการประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ของโลกทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันกำลังพิจารณาสมัครเมืองมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

ผังเมือง มีลักษณะเป็นคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรอบล้อมเขตเมืองเก่า ระบบนิเวศของเมืองเชียงใหม่ถูกต้องตามหลักชัยมงคลด้าน หน้าเมืองเป็นพื้นที่ค้าขายติดกับแม่น้ำปิงและด้านหลังเมืองติดกับดอยสุเทพ ภูเขาที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมือง

ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ

  1. พื้นที่ภูเขา คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 80% ของจังหวัด ประกอบด้วยทิวเขาอินทนนท์ มีภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย บางพื้นที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเขาชาติพันธุ์ต่าง ๆ
  2. พื้นที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบเชิงเขา มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตร
สถาปัตยกรรม ช่วงสมัยล้านนา เชียงใหม่ได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัยและพุกาม ทำให้ตัวเมืองเก่าของเชียงใหม่มักมีลักษณะร่วมสมัยกับ 2 อาณาจักรนี้ ภายหลังเมืองเริ่มขยายไปทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำปิง เชียงใหม่เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น มีสถาปัตยกรรมโคโลเนียล จีน พม่า อิสลาม   
 

ชื่อทีม:  ริทัศน์เชียงใหม่
เมืองในสายตาของเรา


เนื่องด้วยเมืองเชียงใหม่มีจุดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นหัวเมืองเหนือ จุดศูนย์กลางการค้าขายในภาคเหนือ การพัฒนาการศึกษา คมนาคม และการออกแบบไลฟ์สไตล์ให้อยู่ร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ทำให้คนเชียงใหม่มีความภูมิใจในวัฒนธรรมและการเป็นเจ้าของพื้นที่  นำไปสู่เมืองที่มีความเป็นสังคมเมืองมากที่สุดในภาคเหนือ และถึงแม้จะเกิดวัฒนธรรมขึ้นใหม่บ้างตามกาลเวลา แต่คนเชียงใหม่ก็ยังยึดถือและรักษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมล้านนาไว้เสมอ โดยมีตัวแปรที่สำคัญควบคู่กันก็คือวัฒนธรรมที่ผูกติดกับศาสนาและธรรมชาติ ทำให้เมืองเชียงใหม่ มีบรรยากาศที่มีความผสมกลมกลืน ของความเป็นเมือง และความความเป็นชุมชนท้องถิ่น
คนต่างจังหวัดในประเทศไทย ได้มอบฉายาให้เชียงใหม่ว่าเป็นเมือง Slow Life โดยเหตุผลคือ วิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ไม่ได้กลายเป็นลักษณะของสังคมเมืองโดยสมบูรณ์ มีบรรยากาศการแข่งขัน และความเร่งรีบน้อยกว่า โดยมีเหตุผลสี่ประการ คือ

  1. เป็นเมืองที่อยู่กับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และธรรมชาติ กิจกรรมส่วนมากมักดำเนินกิจกรรมเป็นหมู่คณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณี ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ มีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมร่วมกับธรรมชาติเสมอ ทำให้ถูกมองว่ามีวิถีชีวิตเรียบง่าย
  2. ระบบการปกครองของประเทศไทยเป็นระบบพัฒนาแบบรวมศูนย์ ท้องถิ่นมีอำนาจลดลง การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่จึงล่าช้ากว่าเมืองหลวงอื่นๆ ส่งผลต่อลักษณะการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น เกิดธุรกิจร้านกาแฟหรือธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้อาศัยความเร่งรีบ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนพัฒนาพื้นที่ของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  3. ระบบคมนาคมที่ไม่มีการพัฒนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง  ขนส่งมวลชนที่มีสายประจำทาง อยู่รวมกันแค่ในเมือง ขณะที่ย่านที่อยู่อาศัยกลับกระจัดกระจายอยู่รอบนอกเมือง มีเพียงรถส่วนตัวที่จะทำให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างตามใจได้ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงวาดภาพเชียงใหม่อย่างสวยงามว่าไม่เร่งรีบ แต่แท้จริงแล้วเพราะไม่มีขนส่งที่เร่งรีบ ไม่มีจุดแออัดในการรอคอยการเดินทางต่างหาก
  4. การศึกษา ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหลายด้านตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น  ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีนวัตกรรมทางการศึกษาที่หลากหลาย เนื่องจากมีสถานศึกษาและมีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนจำนวนมาก ทำให้มีผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งใหลเข้ามาเรียนในเชียงใหม่ แต่ยังขาดการกระจายตัวของแหล่งเรียนรู้ออกสู่พื้นที่ห่างไกล ทำให้แหล่งความรู้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง
กิจกรรมที่อยากทำในเมือง

พื้นที่สาธารณะ
  • ออกไปพบปะเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่แค่ในห้าง
  • มีที่ให้ไปอ่านหนังสือ ทำงาน อื่นๆนอกจากร้านกาแฟ
  • มีพื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมต่างๆได้ร่วมกับคนในเมือง ได้พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกันหลังเลิกงาน
 คมนาคม
  • เดินทางไปยังที่ต่างๆในเมืองได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัว
  • ปั่นจักรยาน หรือเดินแทนการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
รูปแบบการใช้งานพื้นที
  • สามารถออกไปเดินเล่นตามริมน้ำ/ที่สาธารณะในเมืองยามกลางคืนได้อย่างปลอดภัย
  • สามารถตระเวนราตรีคนเดียวหรือสังสรรค์กับเพื่อนๆได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย และกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
  • ออกมาเรียกร้องประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างอิสระ
  • จัดงานศิลปะ
  • เปิดพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมที่คนทั่วไปสามารถมีส่วนออกแบบได้
จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองได้อย่างไร
กลุ่มเยาวชนเชียงใหม่มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและผลักดันการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเมืองรองรับความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม และรับมือกับความเปลื่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีเยาวชนเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการผ่านการออกแบบการแก้ปัญหา ดังนี้

เป้าหมาย: การสร้างพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและผลักดันการมีส่วนร่วม
ยุทธศาสตร์: เยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ผลักดัน เชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ฯลฯ
ยุทธวิธี: พัฒนาต้นแบบพื้นที่ทดลอง และจัดทำฐานข้อมูล  โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและเชื่อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่าง ๆ

กิจกรรม:
  1. สำรวจความต้องการ ปัญหา (ร่วมกับคนในพื้นที่ ชุมชน)
  2. วิเคราะห์ วางแผนแนวทางแก้ไข (ร่วมกับคนในพื้นที่ ชุมชน)
  3. ทดลองการแก้ไข + สรุปผล (ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในเชียงใหม่)
  4. จัดทำข้อมูล + จัดทำร่างนโยบายและแผนแม่บท (ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในเชียงใหม่)
  5. เสนอร่างนโยบายและแผนแม่บท (ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในเชียงใหม่)
วิสัยทัศน์ของเรา
สร้างพื้นที่เชื่อมโยงความหลากหลายและส่งเสริมอิสระภาพของปัจเจกในการเลือกและการมีส่วนร่วม

สมาชิกในกลุ่ม
วันฤดี เพ็ชรสลับแก้ว (วาวา) - กรณิศ แก้วอุไร (จาเป่า) - ณิชกานต์ พิทยาภรณ์ (แอม) - เบญจวรรณ ปัญญาเรือง (เนย) - พุฒิพงศ์ แผ่นทอง (กาย) - มณฑิรา ไร่สอ (หญิง) - ญณมน ศิริวรรณ (มน) - จิรัชยา หงษ์แก้ว (มิ้ม) - สิตานันท์ กันทะกาศ (ฟ้าใส) - ชนิกานต์ เงินเลิศสกุล (ไปรท์) - เจษฎา ปลุกใจ (เจษ) - อัษฎาวุธ ดำคล้ำ (แมน) - ส่องฟ้า เอดั้น แมกซ์เวลล์ (เอดั้น) - กันต์ธีร์ อินทธิรงค์ (พีท) - ธนพร สว่างเมือง (แซนดี้)