การศึกษาขั้นบังคับและค่าใช้จ่าย
ประเทศเยอรมนีมีการศึกษาขั้นบังคับ คือ เด็ก ๆ จะต้องไปโรงเรียน 9 ปี ในบางรัฐการศึกษาขั้นบังคับยังครอบคลุมถึงเด็กที่มีสถานะของสิทธิในการพำนักที่ไม่แน่ชัดด้วย ปีการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมหรือกันยายนไปจนถึงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ขึ้นกับแต่ละรัฐ ปกติแล้วนักเรียนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐ เพราะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน จะมีค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับสำเนาเอกสาร อุปกรณ์การเรียน และทัศนศึกษา สำหรับโรงเรียนเอกชนนักเรียนจะต้องเสียค่าเล่าเรียนเอง
ประเภทของโรงเรียน
โรงเรียนมีอยู่หลายประเภท และระบบการศึกษาในแต่ละรัฐมีความแตกต่างกัน เด็กทุกคนตั้งแต่อายุ 6 หรือ 7 ปีต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนประถม (Grundschule/Primarschule) หลังจากที่จบชั้นป. 4 (หรือป. 6 ในบางรัฐ) เด็ก ๆ จะเข้าเรียนในโรงเรียนระดับถัดไป ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ปกติแล้วที่โรงเรียนประถมในชั้นป. 4 จะมีการแนะนำว่าลูกของคุณควรเข้าเรียนที่โรงเรียนประเภทใดต่อ เช่น โรงเรียน Hauptschulen หรืออีกชื่อคือ Mittelschulen (ป.5 - ม.3/ม.4) ซึ่งนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรที่เรียกว่า Hauptschulabschluss หรือเทียบเท่า ที่โรงเรียนประเภทนี้นักเรียนจะได้เรียนวิชาเชิงปฏิบัติ เช่น งานไม้หรือการเขียนแบบทางเทคนิค โรงเรียนระดับสูงขึ้นคือโรงเรียน Realschule (ป.5-ม.4) ซึ่งนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรที่เรียกว่า Realschulabschluss หลังจากที่จบโรงเรียน Hauptschule หรือ Realschule แล้ว นักเรียนสามารถเรียนต่อด้านวิชาชีพ นอกจากนั้นยังมีโรงเรียน Gymnasium (จนถึง ม.6) ที่โรงเรียนประเภทนี้ นักเรียนจะสอบรับใบประกาศนียบัตรจบม.ปลายที่เรียกว่า Abitur และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยได้ ที่โรงเรียน Gymnasium ส่วนใหญ่นักเรียนจะเรียนภาษาต่างประเทศ 2 - 3 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส
นอกจากนั้นแล้ว บางรัฐยังมีโรงเรียนแบบประสม (Gesamtschule) ด้วย ซึ่งรวมโรงเรียนแบบ Hauptschule, Realschule และ Gymnasium เข้าด้วยกัน หากนักเรียนต้องการเปลี่ยนประเภทของโรงเรียน เช่น จากโรงเรียน Hauptschule เป็นโรงเรียน Realschule จะเปลี่ยนที่โรงเรียนประเภทนี้ได้ง่ายกว่า ในกรณีของโรงเรียนที่แบ่งประเภทชัดเจน นักเรียนก็สามารถเปลี่ยนโรงเรียนได้ แต่ไม่ง่ายนัก ในแต่ละรัฐ มีโรงเรียนระบบสองภาษา, ศูนย์การศึกษาพิเศษ, วิทยาลัยเฉพาะทาง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้วย
เวลาเข้าเรียน
โรงเรียนส่วนใหญ่เลิกเรียนตอนเที่ยงหรือตอนบ่ายต้น ๆ (14 หรือ 15 น.) หลังจากนั้นนักเรียนสามารถไปที่ศูนย์ดูแลเด็กหลังเลิกเรียนได้ ซึ่งสามารถอยู่ได้ทั้งช่วงบ่าย นักเรียนจะได้รับอาหารเที่ยงและมีคนช่วยทำการบ้าน แต่จะต้องเสียเงินให้กับบริการของศูนย์ดูแลเด็กหลังเลิกเรียน อย่างไรก็ดี มีโรงเรียนแบบอยู่ทั้งวันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เด็กนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวจะอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน ถึง 16 หรือ 17 น.เป็นส่วนใหญ่
วิชาต่าง ๆ
ที่โรงเรียนนักเรียนต้องเรียนหลายวิชา รวมถึงวิชาพลศึกษาด้วย ซึ่งในระดับโรงเรียนประถมยังไม่แบ่งเพศ ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะเรียนวิชาพละร่วมกัน ในโรงเรียนประเภทอื่น เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเรียนวิชาพละร่วมกัน แต่บางครั้งก็แยกกัน เพราะมักจะมีวิชาว่ายน้ำ โรงเรียนส่วนมากสอนวิชาศาสนาโดยยึดศาสนาคริสต์เป็นหลัก แต่นักเรียนสามารถขอถอนตัวจากวิชาศาสนา และไม่ต้องลงเรียนได้ แต่จะมีวิชาจริยศึกษา หรือในโรงเรียนบางแห่งศาสนาอื่นให้เลือกแทน (เช่น ศาสนาอิสลามหรือยิว)
กิจกรรมนอกโรงเรียน
ปกติแล้วนักเรียนจะไปทัศนศึกษาปีละหนึ่งครั้ง ประมาณ 3-5 วัน ทั้งชั้นจะเดินทางด้วยกันไปที่เมืองอื่นหรือสถานที่อื่น บางทีก็มีวันเดินพเนจรด้วย ซึ่งเด็ก ๆ จะไปทัศนศึกษาร่วมกัน และเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ นอกจากนั้นโรงเรียนจะจัดงานประจำโรงเรียน ซึ่งจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแสดงละครหรือคอนเสิร์ตของนักเรียน
ผู้ปกครอง
แต่ละโรงเรียนจะมีกลุ่มตัวแทนผู้ปกครอง ซึ่งจะทำงานร่วมกับทางโรงเรียน หลายครั้งต่อปีจะมีวันประชุมผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองจะได้รับข้อมูลที่สำคัญจากคณะอาจารย์และยังได้ทำความรู้จักกันและกันด้วย ผู้ปกครองจะขอนัดอาจารย์เพื่อพูดคุยตัวต่อตัวก็ได้ เรียกว่าการนัดพบผู้ปกครอง ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาที่โรงเรียน หรือเมื่ออยากทราบว่าลูกมีพัฒนาการที่โรงเรียนอย่างไรบ้า
Video International Sign
คำถามที่พบบ่อย
มีคำถามเพิ่มเติมใช่ไหม? คุณสามารถถามผ่านแบบฟอร์มติดต่อได้ เราจะส่งคำถามของคุณไปให้ผู้ให้คำปรึกษาของ หน่วยบริการผู้อพยพที่เป็นเยาวชนโดยไม่เปิดเผยชื่อคุณ
ไปที่แบบฟอร์มติดต่อ